ระดับภาษา
ปัจจัยที่กำหนดระดับภาษา
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดระดับของภาษา ได้แก่
1. โอกาสและสถานที่ เช่น การสื่อสารกับบุคคลกลุ่มใหญ่ในที่ประชุม ที่สาธารณะ ตลาดร้านค้า หรือที่บ้าน ย่อมใช้ระดับภาษาต่างกัน
2. สัมพันธภาพระหว่างบุคคล เช่น เพื่อนสนิท คนที่เพิ่งรู้จัก ผู้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนย่อมใช้ระดับภาษาต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้ต้องขึ้นปัจจัยข้อที่ 1 เช่น บุคคลที่เป็นเพื่อนสนิทเมื่อพูดกันในที่ประชุมย่อมไม่อาจใช้ภาษาระดับเดียวกับที่เคยใช้เมื่อสนทนา
กันตามลำพังได้
3. ลักษณะของเนื้อหา เนื้อหาของสารส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับโอกาสในการสื่อสารระดับภาษา ในบางกรณีเนื้อหาอย่างเดียวกันอาจใช้ภาษาต่าง ๆ กัน ได้ทั้ง 5 ระดับ
4. สื่อที่ใช้ส่งสาร เช่น จดหมายส่วนตัวผนึกซอง ไปรษณียบัตร การบอกต่อ ๆ กันไปด้วยปาก การพูดทางเครื่องขยายเสียง การพูดทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ย่อมใช้ภาษาต่างระดับกัน
ลักษณะของภาษาระดับต่าง ๆ
ลักษณะของภาษาระดับต่าง ๆ แตกต่างกันดังนี้
1. การเรียบเรียง ภาษาต่างระดับกันจำเป็นต้องใช้ความพิถีพิถันในการเรียบเรียงเกี่ยวกับลำดับหรือระเบียบของใจความแตกต่างกันไป เช่น ภาษาระดับพิธีการ และระดับทางการจะต้องใช้ข้อความที่ต่อเนื่องกลมกลืนกันมากกว่าภาษาระดับกึ่งทางการ ในการใช้ภาษาเขียนไม่ว่าในระดับใดจะต้องระมัดระวังในเรื่องลำดับข้อความมากกว่าภาษาพูด เพราะผู้อ่านไม่อาจถามได้
2. กลวิธีนำเสนอ ภาษาระดับพิธีการและระดับทางการนำเสนออย่างกลาง ๆ เป็นการส่งสารไปยังกลุ่มบุคคล และส่งในฐานะที่เป็นผู้แทนของกลุ่มบุคคลหรือในนามของตำแหน่ง ไม่เจาะจงบุคคลผู้รับหรือผู้ส่งสาร อย่างภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง
3. ถ้อยคำที่ใช้ การใช้ถ้อยคำในภาษาจะเป็นต้องแตกต่างกันไปตามระดับต่าง ๆ กัน เช่น
3.1 คำสรรพนาม ภาษาระดับพิธีการ ระดับทางการและระดับกึ่งทางการ ย่อมใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 และบุรุษที่ 2 ต่างกับภาษาระดับไม่เป็นทางการและระดับกันเอง
3.2 คำนาม คำสามานยนามหลายคำใช้คำแตกต่างกันระหว่างระดับทางการขึ้นไปและระดับต่ำกว่าทางการ เช่น
โรงหนัง – โรงภาพยนตร์
ใบขับขี่ – ใบอนุญาตขับรถยนต์
ใบรับรอง – หนังสือรับรอง
บัสเลน – ช่องเดินรถประจำทาง
รถเมล์ – รถประจำทาง
แสตมป์ – ดวงตราไปรษณียากร
งานแต่งงาน – งานมงคลสมรส
คำวิสามานยนามในภาษาระดับทางการขึ้นไปต้องใช้ชื่อเต็ม คำลักษณะนามในภาษาระดับทางการขึ้นไปจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนพิเศษ
3.3 คำกริยา ใช้ต่างกันในระดับต่าง ๆ เช่นกริยาตายใช้ต่าง ๆ กันตามฐานะของบุคคลและโอกาส คือ เสีย สิ้น ถึงแก่กรรม ถึงแก่อนิจกรรม ถึงแก่อสัญกรรม สิ้นชีพตักษัย สิ้นพระชนม์ สวรรคต มรณภาพ กริยาบางคำใช้ต่างกันระหว่างระดับทางการขึ้นไปกับระดับต่ำกว่าทางการ เช่น
ทิ้งจดหมาย - ส่งจดหมายทางไปรษณีย์
ตีตรา - ประทับตรา
เผาศพ - ฌาปนกิจศพ
ออกลูก - คลอดบุตร
รดน้ำแต่งงาน - หลั่งน้ำพระพุทธมนต์
แทงเรื่อง - ผ่านหนังสือไปตามลำดับขั้นโดยเขียนข้อความและชื่อกำกับไว้
3.4 คำวิเศษณ์ ภาษาระดับทางการขึ้นไปไม่นิยมใช้คำวิเศษณ์บอกลักษณะและวิเศษณ์บอกปริมาณ เช่น เปรี้ยวจี๊ด ขมปี๋ อ้วนฉุ ยุ่งจัง ยิ้มแฉ่ง จะมีใช้บ้างบางคำ เช่น มาก น้อย จัด
3.5 คำชนิดอื่น ๆ เช่น คำบุพบท คำสันธาน และคำสรรพนามที่เชื่อมความใช้ร่วมกันทุกระดับภาษา คำลงท้ายประโยค คะ ครับ ซิ นะ เถอะ ใช้เฉพาะในระดับไม่เป็นทางการ และระดับกันเอง
คำที่ใช้แตกต่างกันระหว่างระดับกึ่งทางการลงมากับระดับอื่น เช่น
ระดับกึ่งทางการลงมา ระดับอื่น
ยังงั้น อย่างนั้น
ยังงี้ อย่างนี้
ยังไง อย่างไร
- « แรก
- ‹ หน้าก่อน
- 1
- 2
อยากให้ทำเป็นตารางจะได้เข้าใจมากขึ้น