ความหมายของ “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม”
ความหมายของ “วรรณคดี” และ “วรรณกรรม”

คำ “วรรณคดี”เป็นแนวคิดที่คนไทยรับมาจากชาติตะวันตก ก่อนหน้านี้เรามักใช้คำว่า “หนังสือ” หรือมิฉะนั้นก็เรียกชื่อหนังสือประกอบกับลักษณะคำประพันธ์ของหนังสือ เช่น เสือโคคำฉันท์ กากีกลอนสุภาพ กาพย์พระไชยสุริยา เป็นต้น
คำว่า “วรรณคดี” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 แค่เริ่มใช้เป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 6 หมายถึง หนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยใดก็ได้ที่แต่งเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้
ยกเว้นตำราแบบเรียน ความเรียง เรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดี วรรณคดีเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ และใช้ภาษาได้ดี
ลักษณะเด่นของวรรณคดีไทย จำแนกเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
1.นิยมด้วยคำประพันธ์ร้อยกรองมากกว่าร้อยแก้ว วรรณคดีร้อยแก้วเพิ่งเริ่มมานิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนกน้านั้นถือว่านักปราชญ์และลูกผู้ดีมีตระกูลที่เตรียมตัวจะเข้ารับราชการ ต้องเรียนรู้วิธีแต่งคำประพันธ์ด้วยการแต่งหนังสือหรือการแต่งวรรณคดีจึงนิยมแต่งเป็นบทกลอน ลักษณะภาษากาพย์กลอนที่มีสัมผัสคล้องจองสอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบพูดจาคล้องจองกันทำให้เกิดจังหวะของเสียงจังหวะของคำ แม้ภาษาพูดก็มีลีลาเป็นร้อยกรองแบบง่ายๆ เมื่อกวีเลือกสรรถ้อยคำแล้วนำมาเรียบเรียงด้วยกลวิธีอันประณีตตามรูปแบบของลักษณะคำประพันธ์แต่ละชนิด ได้แก่ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ก็ยิ่งทำให้ความไพเราะของภาษามีมากยิ่งขึ้น
2. เน้นความประณีตของคำและสำนวนโวหาร ภาษาที่ใช้ในวรรณคดีไม่เหมือนภาษาพูดทั่วไป คือ เป็นภาษาที่มีการเลือกใช้ถ้อยคำตกแต่งถ้อยคำให้หรูหรา มีการสร้างคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันที่เรียกว่า คำไวพจน์ โดยใช้รูปศัพท์ต่างๆ กัน เพื่อมิให้เกิดความเบื่อหน่ายจำเจ
นอกจากนั้นยังมีการใช้ภาษาสัญลักษณ์ เช่น ใช้คำ ดวงจันทร์ บุปผา มาลี เยาวมาลย์ แทนคำว่า “ผู้หญิง” เป็นต้น
การที่กวีไทยมุ่งเน้นความงาม ความไพเราะของคำทำให้กวีนิยมเล่นคำ เล่นสัมผัส เช่น นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ บทนี้เล่นเสียง /ร/ และ /ว/
นอกจากนี้กวีไทยยังมุ่งแสดงฝีมือในการสร้างสำนวนโวหารเปรียบเทียบโดยการใช้ภาพพจน์เพื่อสื่อภาพในจินตนาการ ซึ่งให้ความรู้สึกลึกซึ้งกว่าภาพปกติที่ตาเห็น เช่น กวีเห็นต้นลำพูริมน้ำมีฝูงหิ่งห้อยจับอยู่ดูสวยงาม แสงแวววามของหิ่งห้อยโยงให้กวีคิดถึงแหวนที่นิ้วก้อยของนางผู้เป็นที่รัก
3. เน้นการแสดงความรู้สึกที่สะเทือนอารมณ์จาการรำพันความรู้สึก ตัวละครในเรื่องจะรำพันความรู้สึกต่างๆ เช่น รัก เศร้า โกรธ ฯลฯ เป็นคำกลอนยางหลายคำกลอน ในงานประเภทนิราศกวีถ่ายทอดความรู้สึกสะเทือนใจได้เต็มที่ กวีมักพรรณนาธรรมชาติไปตามอารมณ์ของตน ธรรมชาติจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ของกวี ในผลงานประเภทนี้จึงมักเน้นความรู้สึกมากกว่าภาพที่เห็นได้ด้วยตา การที่กวีไทยเน้นอารมณ์มากกว่าแนวคิดทำให้วรรณคดีไทยไม่นิยมเสนอปัญหาหรือเสนอเนื้อหาที่มุ่งแสดงความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือมุ่งแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง
4. มีขนบการแต่ง กล่าวคือ มีวิธีแต่งที่นิยมปฏิบัติแนวเดียวกันมาแต่โบราณ ได้แก่ ขึ้นต้นเรื่องด้วยการกล่าวคำไหว้ครู คือ ไหว้เทวดา ไหว้พระรัตนตรัย ไหว้ครูบาอาจารย์ สรรเสริญพระเกียรติคุณของพระหมากษัตริย์ หรือกล่าวชมบ้านเมือง ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องมักบอกชื่อผู้แต่งและจุดประสงค์ในการแต่ง อนึ่ง สำหรับการบอกชื่อผู้แต่งวรรณคดีรุ่นเก่าก่อนสมัยรัตนโกสินทร์กวีไม่นิยมระบุชื่อ เพราะถือว่าเป็นการแต่งถวายเจ้านายหรือเพื่อสืบพระศาสนา
ในด้านการดำเนินเรื่อง มีการบรรยายและพรรณนาฉากต่างๆ และความรู้สึกต่างๆ ด้วยสำนวนโวหารที่คล้ายคลึงกัน เช่น บทชมธรรมชาติ บทชมความงามของตัวละคร และบทคร่ำครวญต่างๆ การเลียนแบบสำนวนจนกลายเป็นขนบการแต่งวรรณคดีดังตัวอย่างข้างต้นนี้ แสดงลักษณะการยึดแนวการแต่งของครูเป็นต้นแบบ กวีเห็นว่าสำนวนครูเป็นสำนวนดีเยี่ยม จึงยกมาเป็นแบบอย่างด้วยความเคารพ ด้วยความนับถือในฝีมือ มีการถ่อมตัวว่าฝีมือการประพันธ์ของตนถึงจะแต่งขึ้นใหม่ก็ไม่อาจแต่งได้ไพเราะเท่ากวีรุ่นก่อน จึงนิยมเลียนแบบหรือทำตามแบบมากกว่าจะริเริ่มสร้างสรรค์ลักษณะเฉพาะตัวขึ้นใหม่