มงคลที่ 29 เห็นสมณะ
มงคลที่ 29 เห็นสมณะ
แหล่งที่มา : http://www.dhammajak.net/board/files/268_1253333475.jpg_147.jpg
การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ
แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา
หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา
ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี
สมณะคือใคร ?
สมณ แปลว่า คนสงบ หมายถึง พระภิกษุที่ได้บำเพ็ญสมณธรรมฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญามาแล้วอย่างเต็มที่จนกระทั่งมีกายวาจาใจสงบแล้วจากบาป
สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นพระภิกษุ แต่พระภิกษุบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณก็ได้ “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณเพราะหัวโล้น คนที่ไม่ทำกิจวัตร
มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จะจัดเป็นสมณะได้อย่างไร”
คนที่เราตถาคตเรียกว่า “สมณะ” นั้น จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย
ลักษณะของสมณะ
1.สมณะต้องสงบกาย คือ มีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน หรือเฮโลยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหนย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
2.สมณะต้องสงบวาจา คือ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระหรือพระกับฆราวาสก็ตามจะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรมไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป
3.สมณะต้องสงบใจ คือ ทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายในสงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง 3 ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่ 2 คำที่ใช้ชมความงามคน คือ ถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะ เราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีคามสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยมแต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ
“สมณเป็นมาตรฐานความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย”
ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ
1.สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจาก็ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แม้ในความคิดก็ไม่คิดให้ร้ายใคร
2.สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปากแก่ท้อง
3.สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเองไม่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ กิจวัตรของตน เช่น การสวดมนต์ ทำวัตร การศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่
4.สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือ ทำความเพียรเพื่อละกิเลสเป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ ฝึกธุดงค์ ก็ตาม
ชนิดของการเห็นสมณะ
การเห็นของคนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1.เห็นด้วยตา เรียกว่า พบเห็น คือ เห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยา มารยาทอันสง่างาม และสงบของท่าน
2.เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น คือ นอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณบุคคลแล้ว ยังพิจารณาตรองดูด้วยใจจนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ หรือเรียกว่าเห็นถึงสมณธรรมของท่าน
3.เห็นด้วยญาณ เรียกว่า รู้เห็น คือไม่ใช่เป็นเพียงการคิดคาดคะเนถึงคุณธรรมของท่านเท่านั้น แต่เห็นด้วยญาณทัศนะ เห็นด้วยปัญญาทางธรรมทีเดียวว่าท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏิบัติมาดีแล้ว จนเข้าถึงธรรมกายในตัว แล้วก็อาศัยธรรมกายในตัวมองทะลุเข้าไปในใจคนอื่นได้ การเห็นชนิดนี้ชัดเจนถูกต้องแน่นอนไม่มีการผิดพลาด
กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเห็นสมณะ
ในการเห็นสมณะนั้น ถ้าหากเห็นเพียงชั่วขณะ เช่น เห็นท่านเดินผ่านไป หรือเราเผอิญเดินไปเห็นท่านแล้วก็ผ่านเลยไปอย่างนั้นได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเห็นสมณะ พึงกระทำ ดังนี้
1.ต้องเข้าไปหา หมายถึง เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน เช่น ปัดกวาดเช็ดถูกุฏิของท่าน ช่วยซักสบง จีวรของท่าน เป็นต้น
2.ต้องเข้าไปบำรุง หมายถึง จัดหาปัจจัย 4 ไปถวายท่าน ท่านจะได้ไม่มีภาระมาก และจะได้มีเวลามีโอกาสได้สนทนาธรรมกันมากขึ้น
3.ตามฟัง หมายถึง ตั้งใจฟังคำเทศน์ คำสอนของท่าน ด้วยใจจดจ่อ
4.ตามระลึกถึงท่าน หมายถึง เมื่อพบท่านได้ฟังคำสอนของท่านแล้วก็ตามระลึกถึงทั้งกิริยามารยาทของท่าน คำสอน โอวาทของท่าน นำมาไตร่ตรองพิจารณาอยู่เสมอ
5.ตามดูตามเห็น หมายถึง ดูท่านด้วยตาเนื้อของเราด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรมให้เห็นตัวสมณธรรมของท่านอีกอย่างหนึ่ง เห็นทานอย่างไรเราก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ดื้อรั้น
เหตุที่ชาวโลกอยากให้สมณะหรือพระมีศีลไปเยี่ยมบ้าน
เมื่อสมณะหรือพระผู้มีศีลบริสุทธิ์ เข้าสู่สกุลใดมนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้นย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ 5 ประการ ดังนี้
1.จิตของเราย่อมเลื่อมใสเพราะเห็นสมณะ เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์
2.เขาย่อมพากันต้อนรับกราบไหว้ให้อาสนะแก่สมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุล เป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง
4.เขาย่อมแจกจ่ายทานตามสติกำลังในสมณะผู้เข้าไปสู่สกุลเป็นผลให้สกุลนั้ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคะใหญ่
5.เขาย่อมไต่ถาม สอบสวน ฟังธรรม จากสมณะซึ่งเข้าไปสู่สกุลเป็นผลให้สกุลนั้นชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่
แหล่งที่มา : http://www.katitham.com/images/introc_1166197785/culture_16.gif
ข้อควรปฏิบัติเมื่อพบสมณะ
1.ถ้าไทยธรรมมีอยู่ พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้น ตามสมควร
2.ถ้าไทยธรรมไม่มี พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์
3.ถ้าไม่สะดวกในการกราบ ก็ประนมมือไหว้
4.ถ้าไหว้ไม่สะดวก ก็ยืนตรง หรือแสดงความเคารพด้วย วิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น หลีกทางให้
5.อย่างน้อยที่สุด ต้องแลดูด้วยจิตเลื่อมใส
อานิสงส์การเห็นสมณะ
1.ทำให้ได้สติ ฉุกคิดถึงบุญกุศล
2.ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน
3.ทำให้ตาผ่องใสดุจแก้วมณี
4.ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
5.ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง
6.ทำให้ได้สมบัติ 3 โดยง่าย
7.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย