ศิลปะสมัยล้านนา


ศิลปะแบบล้านนาเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-21 บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงทางภาคเหนือโดยแต่ก่อนเรียกว่า ศิลปะเชียงแสน ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในด้านความหมายของพื้นที่และผลงานศิลปกรรม ดังนั้นจึงเห็นสมควรให้ใช้คำว่า “ศิลปะล้านนา” อันหมายถึงรูปแบบศิลปะที่กระจายอยู่ในภาคเหนือตอนบนตั้งแต่จังหวัดตาก แพร่ น่าน ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ได้ความหมายครอบคลุมศิลปกรรมทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในดินแดน ล้านนาทั้งหมด อีกทั้งยังสามารถแยกเรียกเป็นสกุลช่างตามรายละเอียดที่แตกต่างกันไปเช่น ศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงใหม่ สกุลช่างน่าน หรือ สกุลช่างพะเยา เป็นต้น และเฉพาะพระพุทธรูปเท่านั้นที่ยังคงนิยมเรียกว่า “แบบเชียงแสน”ตามเดิม
สถาปัตยกรรม
- สถูปเจดีย์ทรงมณฑป หรือทรงปราสาท เจดีย์ทรงนี้ระยะแรกแสดงรูปแบบอิทธิพลหริภุญไชย (ด้วยดินแดนล้านนาแต่เดิม เคยอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง ศาสนาและวัฒนธรรมจากหริภุญไชยมาก่อน ดังนั้นศิลปกรรมหริภุญไชยจึงมีอิทธิพลต่อศาสนสถานล้านนาในระยะแรกๆ) ลักษณะสำคัญคือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมตั้งซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้น แต่ละชั้นแต่ละด้านมีจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นทรงระฆังหลายลูกซ้อนต่อเนื่องกันเป็นชุด เจดีย์กลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น เจดีย์กู่คำที่วัดเจดีย์สี่เหลี่ยม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ต่อมาทรงเจดีย์มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มยกเก็จที่เรือนธาตุ และเปลี่ยนเรือนธาตุชั้นลดเป็นหลังคาลาด เหนือชั้นหลังคาลาดเป็นองค์ระฆัง ปล้องไฉน และปลียอด และพัฒนาการสุดท้ายเป็นการผสมระหว่างทรงเจดีย์ที่กล่าวมากับเจดีย์แบบจีนที่ เรียกว่า “ถะ” เกิดแบบพิเศษ เช่นเจดีย์วัดตะโปทาราม และเจดีย์กู่เต้า เป็นต้น เจดีย์กู่คำ วัดเจดีย์สี่เหลี่ยม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพญามังราย ตั้งอยู่ภายในบริเวณเมืองเก่าเวียงกุมกามก่อน ที่พระองค์จะเสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ รูปทรงเจดีย์คงถ่ายแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมห้าชั้นซ้อนลดหลั่นในลักษณะเรียวสอบขึ้นไป แต่ละชั้นมีซุ้มจรนัมด้านละสามซุ้ม ภายในแต่ละซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน รวมทั้งสิ้น ๖๐ องค์ ต่อมาราวพ.ศ. ๒๔๔๙ คหบดีชาวพม่าชื่อหลวงโยทการพิจิตร มีศรัทธาปฏิสังขรณ์โดยเพิ่มซุ้มพระอีกด้านละหนึ่งซุ้ม รวมทั้งดัดแปลงลวดลายปูนปั้นกลายเป็นแบบพม่าไป
