ประเพณีที่เกี่ยวกับอาชีพหรือความเป็นอยู่เฉพาะกลุ่ม
ประเพณีที่เกี่ยวกับอาชีพหรือความเป็นอยู่เฉพาะกลุ่ม เช่น
ประเพณีการทำขวัญข้าว
เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนาให้รู้ว่า การทำนาปลูกข้าวของตนนั้น จะไม่สูญเปล่า เพราะพระแม่โพสพเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเกี่ยวข้าวก็จะมาช่วยกันเกี่ยวข้าว เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี และที่สุดคือการร่วมสนุกสนานเมื่อทุกคนเหนื่อยยาก และประสบความสำเร็จด้วยดี
เชื่อว่าถ้าได้ทำขวัญข้าว และถ้าพระแม่โพสพได้รับเครื่องสังเวยแล้ว ไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม หนอน สัตว์ต่าง ๆ มากล้ำกราย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนถวายแก่พระสงฆ์เมื่อข้าวนาสุกดีแล้ว เมื่อนวดข้าวเสร็จก็จะกำหนดวันพฤหัสบดีหรือวันศุกร์นำข้าวขึ้นยุ้ง ชาวบ้านก็จะมาร่วมทำขวัญข้าว ร้องเพลงทำขวัญแม่โพสพ
เครื่องสังเวย
ให้นำเครื่องสังเวยไปบูชาแม่โพสพในแต่ละครั้ง
๑. ช่วงข้าวในนากำลังตั้งท้อง
-กล้วย อ้อย ถั่ว งา ส้ม อย่างละ ๑ คำใส่ตะกร้าสาน
-หมาก พลูจีบ ๑ คำ
๒. เมื่อเกี่ยวข้าวและนำขึ้นยุ้งข้าว
-หมาก พลูจีบ ๑ คำ
-บุหรี่ ๑ มวน
-ข้าวที่เกี่ยวแล้ว ๑ กำ
-ผ้าแดง ผ้าขาว ขนาด ๑ คืบ อย่างละ ๑ ผืน
ประเพณีขอฝน
บุญบั้งไฟมีหลายความเชื่อ บ้างเล่าว่า ณ บนสวรรค์ชั้นฟ้ามีเทพบุตรนามว่า วัสสกาลเทพบุตร เป็นผู้มีหน้าที่ตกแต่งน้ำฟ้าน้ำฝน กล่าวกันว่าฝนจะตกหรือไม่ก็อยู่ที่เทพบุตรองค์นี้เป็นสำคัญ หากใครทำถูกทำชอบ ปฏิบัติดี ท่านก็จะบันดาลให้ฝนฟ้าตก ใครทำไม่ถูกไม่ชอบ ท่านก็ไม่ส่งฟ้าฝนมาให้ และสิ่งที่ วัสสกาลเทพบุตร โปรดคือการบูชาด้วยไฟ ดังนั้น มนุษย์จึงทำบั้งไฟ และจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาท่าน เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และได้กลายมาเป็นประเพณีทำบุญบั้งไฟสืบต่อมาจนทุกวันนี้
ส่วนอีกความเชื่อหนึ่งก็ว่า การจัดงานบุญบั้งไฟขึ้นมานั้น เป็นเสมือนการส่งข่าวหรือ บอกข่าวแก่ พระยาแถน (พระยาแถน หรือ ผีฟ้าผีแถน คือ เทพผู้ให้เกิดเป็นดิน เป็นฟ้า เป็นฝน ในความเชื่อของชาวอีสาน) ซึ่งมีหน้าที่ให้น้ำฝนแก่มนุษย์โลก เพื่อให้ทราบว่าขณะนี้เกิดความแห้งแล้งขึ้นแล้ว และมวลมนุษย์ทั้งหลายกำลังเดือดร้อนเรื่องการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น การส่งบั้งไฟขึ้นไป จึงเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ กับ พระยาแถน หรือผีฟ้าผีแถน จากความเชื่อที่กล่าวมา นอกจากนี้ ชาวอีสานยังมีตำนานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการแห่บั้งไฟอื่นๆอีก เช่น ตำนานเรื่องพระยาคันคาก ตำนานเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ เป็นต้น
ครั้นถึงวันรวมบั้งไฟ (หรือภาษาอีสานเรียกว่า วันโฮม) ชาวบ้านก็จะมารวมกันที่วัด พร้อมจัดขบวนแห่ไปรอบๆเมือง โดยในขบวนจะมีทั้งชายและหญิงร่ายรำและร้องเล่นกันไปตลอดเส้นทางที่ขบวนผ่าน ซึ่งเนื้อเพลงที่นำมาร้องนั้น บางครั้งอาจจะมีเนื้อหาสาระออกนัยเป็นสองแง่สองง่ามอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ถือสาด้วยคิดว่าเป็นการร้องเล่นเพื่อความสนุกสนาน
สำหรับคืนวันรวมบุญบั้งไฟนั้น บางชุมชนก็จะจัดให้มีการเส็งกลอง (การเส็งกลอง คือ การประกวดหรือตีกลองแข่งกัน) โดยแต่ละหมู่บ้านอาจจะแข่งกันเอง หรืออาจจะเชิญหมู่บ้านใกล้เคียง หรือผู้ที่สนใจมาร่วมแข่งขันด้วยก็ได้ การตัดสินแพ้ชนะขึ้นอยู่กับเสียงกลองว่าใครดังกว่าผู้อื่น ก็เป็นฝ่ายชนะ
ในรุ่งขึ้นชาวบ้านก็จะพากันไปทำบุญตักบาตร ถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว เจ้าของบั้งไฟทั้งหลายก็จะนำบั้งไฟของตนออกมาแห่ไปรอบๆอีกครั้ง ชาวบ้านที่ได้เห็นก็จะพากันมารอดูการจุดบั้งไฟ หากบั้งไฟของใครพุ่งขึ้น ก็จะช่วยกันหามแห่เจ้าของไปรอบๆ ส่วนบั้งไฟของใครพุ่งลงหรือไม่ติดก็จะถูกจับโยนลงโคลนเป็นที่สนุกสนาน และเมื่องานเลิกแล้ว พวกที่เป็นเจ้าของบั้งไฟที่ขึ้นก็จะไปฟ้อนรำขอข้าวของเงินทองเรียกว่า นำฮอยไฟ
ประเพณีชักพระ
เป็นประเพณีของภาคใต้ ในเทศกาลออกพรรษา สืบเนื่องจากเรื่องราวในพุทธประวัติ ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และประทับจำพรรษาอยู่จนถึงออกพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ จึงมีประเพณีสมมติว่าตักบาตรพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีการนำพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบก แล้วช่วยกันลากไปวัด ระหว่างทางชาวบ้านจะใสบาตรข้าวเหนียวห่อด้วยใบกระพ้อเป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน
ประเพณีชิงเปรต
เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อว่าญาติตายไปเป็นเปรตอยู่ในนรก จะได้รับการปลดปล่อยในช่วงวันสาทรเดือนสิบ จึงมีการนำอาหารจัดเป็นสำรับไปถวายพระที่วัด หลังจากนั้นจะนำอาหารไปวางที่ทางสามแพร่ง เรียกว่า ตั้งเปรต
แอ่ว
เป็นประเพณีของภาคเหนือ ที่เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้พบปะพูดคุยกันเพื่อทำความรู้จักและเลือกคู่ครอง โดยฝ่ายชายจะไปหาฝ่ายหญิงที่บ้านในตอนค่ำ และพ่อแม่จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้อยู่กันตามลำพัง แต่ถ้าฝ่ายชายล่วงเกินฝ่ายหญิงจะต้องทำพิธีขอขมา เรียกว่า เสียผี